4 เมืองตัวอย่างกับนโยบายลดโรคอ้วนที่ทำได้จริง
องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มนักวิจัยระหว่างประเทศได้เปิดเผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้คนมากกว่า 220 ล้านคนในกว่า 190 ประเทศ โดยมีการประมาณการว่าประชากรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกกำลังเข้าข่ายน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งมีความเสี่ยงในด้านสุขภาพร้ายแรง ขณะที่ประเทศไทยก็มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากขึ้น จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย ที่ได้ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ในปี พ.ศ. 2562 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2561 สอดคล้องกับคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) ในปี พ.ศ. 2565 ที่พบว่าผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปเป็นโรคอ้วน 46.6%
จากสถานการณ์โรคอ้วนในไทย ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศต้องใช้งบประมาณในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการดูแลผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคที่เกี่ยวข้องสูงขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาเมืองในหลายด้านต้องชะลอตัวหรือไม่สามารถพัฒนาได้ดีเท่าที่ควร ภาคส่วนที่จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจากผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มงานอนามัยสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ การดูแล การเฝ้าระวัง การรักษา เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันปัญหานี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่จะทำแบบใดดี มาดู 4 เมืองตัวอย่างที่ผลักดันนโยบายลดความอ้วนจนประสบความสำเร็จ
1. เมืองเลกโก ประเทศอิตาลี
เริ่มที่เมืองแรกก็คือ เมืองเลกโก (Lecco) ประเทศอิตาลี มีโครงการที่ชื่อว่า “Piedibus” เป็นโครงการของเทศบาลเมืองเลกโก ที่ส่งเสริมและสร้างนิสัยให้กับผู้คนในเมืองออกกำลังกาย ลดมลพิษทางอากาศ และลดปัญหาการจราจรในเมือง ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและอาสาสมัครพาเด็กเดินทางไปโรงเรียนด้วยการเดินเท้า ซึ่งผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องพาเด็กเดินเท้าตั้งแต่บ้านไปจนถึงโรงเรียนด้วยตนเอง แต่สามารถพาเด็กเดินไปยังจุดรวมพลที่เทศบาลกำหนดไว้ให้เป็นระยะ แล้วจะมีอาสาสมัคร (ACCOMPAGNATORI) พาเด็กเดินเท้าไปจนถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย ทำให้ผู้ปกครองประหยัดเวลาในการเดินเท้าไปส่งเด็ก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถสาธารณะ อีกทั้งเทศบาลเมืองเลกโกยังดูแลค่าใช้จ่ายและประกันภัยในการเดินทางเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยทั้งหมดด้วย
หลังจากการดำเนินการโครงการ Piedibus ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันมีเส้นทางการเดินเท้ากว่า 25 เส้นทาง มีระยะการเดินทางด้วยเท้าไปแล้วว่า 740,053 กิโลเมตร สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 94,241 กิโลกรัม ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนในเมืองยังเกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากขึ้นด้วย ที่สำคัญผู้ที่อยู่ในเมืองได้ออกกำลังกาย เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้ตนเองและครอบครัว
2. เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองต่อมาก็คือ เมืองอาร์ลิงตัน (Arlington) อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโครงการที่ชื่อว่า "Car-Free Diet” เป็นโครงการที่กระตุ้นให้ประชาชนในเมืองออกกำลังกาย ลดมลพิษ และประหยัดเงิน ด้วยการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยมีการจัดทำโปรแกรมและคู่มือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้คนในเมืองเดินทางด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน และบริการขนส่งสาธารณะ เช่น
- เครื่องคิดเลข ที่จะบอกว่าถ้าเดินเท้าแทนการขับรถยนต์จะช่วยเผาผลาญแคลอรีไปเท่าไร ประหยัดเงินได้เท่าไร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเพียงใด
- Commuter Store & CommuterDirect.com เป็นร้านค้าและศูนย์บริการการเดินทางโดยไม่ใช่รถยนต์ส่วนบุคคล มีทั้งบริการจองตั๋ว การต่ออายุตั๋ว การจำหน่ายบัตรผ่าน ตารางเวลาเดินรถ และข้อมูลต่าง ๆ ในระบบบริการขนส่งสาธารณะที่ครบครันและครอบคลุม พร้อมบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านหรือที่ทำงาน
- แผนที่ควบคุมอาหารปลอดรถยนต์ของอาร์ลิงตัน เป็นแผนที่แนะนำเส้นทางเดินทางโดยไม่ใช่รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีข้อมูลให้แบบละเอียด ครบถ้วน
3. รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองที่สามเป็นนโยบายการแก้พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในเมือง ซึ่งในหลายเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในเมืองและวัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด จนทำให้เกิดปัญหาการจราจร ขยะล้นเมือง และเป็นพฤติกรรมการกินที่ทำลายสุขภาพของคนในเมือง หลายเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียจึงเร่งแก้ปัญหาร้านอาหารจานด่วนประเภท Drive-thru ที่มีจำนวนเยอะมาก โดยกำลังเสนอให้มีการออกมาตรการระงับการก่อสร้างร้านอาหารจานด่วนประเภท Drive-thru ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันและควบคุมวัฒนธรรมการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดขณะขับรถ ซึ่งไม่เพียงทำลายสุขภาพ แต่ยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายบนท้องถนนด้วย
4. รัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองสุดท้ายที่ Bedrock คัดนโยบายการต่อสู้กับความอ้วนที่น่าสนใจก็คือ รัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในเมืองที่มีประชากรน้ำหนักเกินในระดับสูงมากของอเมริกา และขึ้นชื่อเรื่องพฤติกรรมการรับประทานที่แย่ต่อสุขภาพ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้คนนิยมขับรถยนต์ส่วนตัว วิถีชีวิตเร่งรีบ นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่สำคัญมีทางเท้าน้อยและไม่มีเลนจักรยานภายในเมืองมาก่อน ประชาชนภายในเมืองมีอัตราการเสียชีวิตและเป็นผู้ป่วยจากโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจสูงมาก เมื่อนายกเทศมนตรีของเมืองได้รวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของผู้คนในเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และผลกระทบด้านสุขภาพของผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน จึงทำให้เกิดการเริ่มแก้ปัญหาอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2547 ด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเริ่มจากการสร้างสวนสาธารณะ ทางเท้า เลนจักรยาน เส้นทางที่มีสวนทั่วทั้งเมือง กำหนดให้ทุกโรงเรียนในเมืองจะต้องมีห้องออกกำลังกาย พร้อมทุ่มเงินกว่าร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างศูนย์พายเรือและพายเรือคายัคที่ดีที่สุดในโลกให้ประชาชนในเมืองใช้บริการฟรี เพื่อกระตุ้นให้คนในเมืองออกกำลังกาย
ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในสาเหตุของกลุ่มโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจมาจากการโภชนาการที่ไม่ถูกต้องและไม่ออกกำลังกาย จึงได้เร่งกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในเมือง ด้วยการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น ให้คริสตจักรจัดตั้งชมรมวิ่ง กำหนดให้โรงเรียนมีการแนะนำหรือสอนเรื่องเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ นอกจากนี้เทศบาลยังมีแคมเปญมากมาย เช่น การจัดการแข่งขันลดน้ำหนักชิงเงินรางวัล การแข่งขันเสนอเมนูเพื่อสุขภาพ เป็นต้น จนเมืองได้รับการขนานนามว่า “a laboratory for healthy living” หรือห้องทดลองเพื่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี
เมืองเลกโก, เมืองอาร์ลิงตัน, รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐโอคลาโฮมา คือตัวอย่างในการเอาจริงเอาจริงในการลดปัญหาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งนำไปสู่การลดงบประมาณในด้านสาธารณสุขและดูแลผู้ป่วย มีงบประมาณในการพัฒนาเมืองด้านอื่นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประชากรให้มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคตร่วมกันได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่เห็นว่าไอเดียที่นำมาบอกเล่านำไปปรับใช้กับท้องถิ่นได้ ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้นะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.tomorrow.city/how-to-reduce-obesity-lose-weight-thank-to-urbanism/
https://www.legambientelecco.it/piedibus/
https://www.huffpost.com/entry/oklahoma-obesity_n_562002e1e4b050c6c4a4eb75