3 เทคโนโลยีที่ต้อง “เรียลไทม์ (Real-Time)” เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจยุคดิจิทัล

การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง ข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-Time) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถติดตาม ตอบสนอง และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความสามารถในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่แม่นยำ ทันต่อทุกการเปลี่ยนแปลง เห็นโอกาสที่จะชิงความได้เปรียบมาครอง
แต่ข้อมูลแบบเรียลไทม์อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องบูรณาการ Real-Time GPS Tracking, Real-Time Data และ Real-Time Analytics เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Ecosystem) ที่จะช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นภาพรวมของธุรกิจแบบทันที สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ และคาดการณ์แนวโน้มล่วงหน้าได้แบบแม่นยำ มาทำความรู้จัก 3 เทคโนโลยีที่ต้อง “เรียลไทม์” กันว่ามีอะไรบ้าง และมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง
1. Real-Time GPS tracking คืออะไร
Real-Time GPS tracking หรือระบบติดตาม GPS คือเทคโนโลยีที่จะทำให้ทราบตำแหน่งปัจจุบันของวัตถุนั้น ๆ โดยจะต้องอาศัยส่วนประกอบ 3 ประการ ได้แก่ อุปกรณ์ติดตาม GPS เครือข่ายการสื่อสารที่จะต้องใช้รับส่งข้อมูล และระบบหรือซอฟต์แวร์ที่จะตีความข้อมูล พร้อมแสดงผลข้อมูลตำแหน่งแบบเรียลไทม์
ประโยชน์ของ Real-Time GPS tracking
ประโยชน์ของระบบติดตาม GPS ก็คือการติดตามเพื่อทราบตำแหน่งปัจจุบันของวัตถุต่าง ๆ สามารถนำมาใช้งานร่วมกับข้อมูลแบบเรียลไทม์ และระบบวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ เพื่อประสิทธิภาพในการติดตาม เฝ้าระวัง และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และลดต้นทุนทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดระยะเวลาการดำเนินงาน และการวางแผนซ่อมบำรุง เป็นต้น
แนวทางการใช้ Real-Time GPS tracking
ระบบติดตาม GPS ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมักจะใช้ในการติดตามและตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบัน เช่น
- ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ใช้ในการติดตามตำแหน่งของสินค้าและยานพาหนะว่าปัจจุบันอยู่ที่ใด อยู่ในเส้นทางและเวลาที่วางไว้หรือไม่
- ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มักจะนำระบบติดตาม GPS ติดตั้งกับทรัพย์สิน สิ่งของ หรือคน เพื่อให้ทราบตำแหน่งปัจจุบันที่แน่นอนว่าอยู่ที่ใด การใช้งานนี้ในรูปแบบนี้มักมีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติด้วย
- ด้านการคมนาคม ใช้ในการแบ่งปันและตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันของยานพาหนะ ส่วนใหญ่จะมาพร้อมระบบคาดการณ์เวลาที่จะถึงจุดหมาย อย่างการติดตามตำแหน่งของระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถรับส่ง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถทราบเวลาที่รถจะมาถึง
- ด้านการผลิต ใช้การติดตามตำแหน่งของเครื่องจักรหรือสินค้าว่าอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการใด
2. Real-Time Data คืออะไร
ข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-Time Data) คือชุดข้อมูลที่มีความสดใหม่และเก็บข้อมูลทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มักจะใช้ในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์แบบใกล้ชิด โดยข้อมูลเรียลไทม์มักใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อนำไปสู่ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับการจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้อุปกรณ์จำพวก Iot เซนเซอร์, ระบบติดตาม GPS, ดาวเทียม, เทคโนโลยีการสำรวจที่มีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อจัดเก็บแล้วก็จะเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลกลางแบบอัตโนมัติ เพื่อแสดงผลข้อมูลดิบหรือข้อมูลที่จัดระบบแล้วในแดชบอร์ด
ประโยชน์ของ Real-Time Data
ปัจจุบันข้อมูลเรียลไทม์มีความสำคัญต่อการติดตาม เฝ้าระวัง และตอบสนองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ธุรกิจจะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น
1. ติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์ การมีข้อมูลเรียลไทม์จะช่วยให้สามารถติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งการตรวจสอบสถานะ ติดตามยอดขาย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตรวจจับความผิดปกติ เป็นต้น
2. ตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเรียลไทม์จะช่วยให้ผู้ใช้งานทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้สามารถแก้ไข แจ้งเตือน หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันต่อสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
3. นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ข้อมูลเรียลไทม์ที่มีการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูล จะทำให้การประมวลและวิเคราะห์เป็นไปอย่างแม่นยำ รอบด้าน สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
แนวทางการใช้ Real-Time Data
ข้อมูลเรียลไทม์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนความสามารถในการตัดสินใจ วิเคราะห์ และพลิกสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น
- ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ อย่างเช่นการทำแผนที่ออนไลน์ ที่นำข้อมูลเรียลไทม์มาสร้างแผนที่แสดงสภาพการจราจร พร้อมแนะนำเส้นทางการเดินทางให้กับผู้ใช้งาน
- ด้านอุตุนิยมวิทยา อย่างการติดตามสภาพอากาศและภัยพิบัติ เช่น การใช้ข้อมูลเรียลไทม์จากดาวเทียมและเซนเซอร์ IoT เพื่อแจ้งเตือนสภาพอากาศ ค่าฝุ่นมลพิษ และสถานการณ์น้ำ
- ด้านการตรวจสอบสถานะของทรัพย์สิน อย่างการดูข้อมูลเรียลไทม์ผ่านแดชบอร์ดว่าการทำงานของเสาไฟหรือกล้องโทรทัศน์วงจรปิดยังทำงานปกติอยู่หรือไม่
- ด้านสุขภาพและความปลอดภัย อย่างการสวมใส่อุปกรณ์ติดตามให้กับผู้สูงวัย เพื่อเฝ้าระวังอุบัติเหตุหรือปัญหาสุขภาพแบบเรียลไทม์ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที
3. Real-time Analytics คืออะไร?
การวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ (Real-time Analytics) หมายถึงการเข้าถึง วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแบบทันทีที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบ มักจะนำมาใช้ในการค้นหาคำตอบที่มีการกำหนดไว้ (On-demand Real-time Analytics) และการติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์ (Continuous Real-time Analytics) เพื่อให้สามารถตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้แบบรวดเร็วและทันท่วงที ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ระบบหรือเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ ระบบเชื่อมโยงและจัดการข้อมูล เครื่องมือวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล และระบบแสดงผลข้อมูล
ประโยชน์ของ Real-time Analytics
การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถช่วยยกระดับองค์กรให้ทันสมัย ลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงาน และชิงความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
1. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ และเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่อาจมองข้ามไป
2. ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ด้วยการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ทันที ที่สำคัญช่วยประกอบการตัดสินใจในการวางแผน การแก้ปัญหา และการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว
3. คาดการณ์สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ ทำให้เห็นแนวโน้มต่าง ๆ ได้ล่วงหน้า นำไปสู่การวางแผน สร้างโอกาส ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนแนวทางธุรกิจ และป้องกันสิ่งที่จะเกิดได้
4. ลดเวลาและต้นทุนในระยะยาว แม้การเริ่มต้นลงทุนระบบอาจจะต้องใช้งบประมาณสูง แต่ในระยะยาวจะทำให้ลดต้นทุนในทั้งด้านทรัพยากรบุคคลในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ลดเวลาการดำเนินงาน และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจจากข้อมูลระบบที่วิเคราะห์ให้
แนวทางการใช้ Real-time Analytics
แพลตฟอร์มในกลุ่ม Real-time Analytics สามารถนำไปใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น
- ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง อย่างการติดตั้งระบบติดตาม GPS บนรถขนส่งเพื่อให้ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ แล้วเข้าสู่ระบบ Real-time Analytics พร้อมแสดงผลในแดชบอร์ดก็จะทำให้เห็นเส้นทางการเดินรถ และปรับเปลี่ยนเส้นทางเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบการจราจรติดขัดหรือประสบอุบัติเหตุ
- ด้านการตลาด อย่างการติดตามผลตอบรับจากลูกค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมแบบทันที นำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค
- ด้านการผลิต อย่างการวิเคราะห์การทำงานของเครื่องจักร เพื่อวางแผนงานผลิตและลดต้นทุนในการผลิต
- ด้านพลังงาน อย่างการติดตามและคาดการณ์การทำงานของเครื่องจักร เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุง ป้องกันปัญหาที่จะเกิด รวมถึงปรับเปลี่ยนคำสั่งการทำงานของเครื่องจักร
4. การผสานกันของ Real-time GPS Tracking, Data และ Analytics
เทคโนโลยีรูปแบบเรียลไทม์ทั้ง 3 ที่เล่ามา ต่างมีความสำคัญและจำเป็นต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อนำมาบูรณาการร่วมกัน จะเกิดเป็นระบบนิเวศของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Ecosystem) ที่จะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการติดตาม การวิเคราะห์ การตอบสนอง การคาดการณ์ และการลดต้นทุน
- การติดตามและวิเคราะห์แบบครบวงจร เช่น การติดตามตำแหน่งและสถานะของสินค้าหรือยานพาหนะ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์
- การตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น การปรับเส้นทางการขนส่งเมื่อพบเหตุจราจรติดขัด การแจ้งเตือนเมื่อสินค้าถึงปลายทาง การแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าแก่ประชาชน การแก้ไขปัญหาทันทีเมื่อพบว่าสถานะของวัตถุมีความผิดปกติ
- การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ด้วยการวางแผนและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานตามข้อมูลและการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์
- การคาดการณ์และวางแผนเชิงกลยุทธ์ การได้ข้อมูลที่เรียลไทม์และแม่นยำ ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มและคาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้า ส่งผลให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในอนาคตได้ดี
ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ผสาน 3 ความเรียลไทม์เข้าด้วยกัน
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เบดร็อค อนาไลติกส์ นำตัวอย่างระบบและแพลตฟอร์มที่มีการผสานการทำงานของ Real-time GPS Tracking, Data และ Analytics มาแนะนำเพื่อความเข้าใจ
1. แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ (Smart Asset Management)
แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ เป็นระบบการจัดการและการวางแผนการบำรุงรักษาสินทรัพย์ขององค์กร ที่ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการจัดเก็บข้อมูลทรัพย์สินขององค์กร พร้อมติดตั้งระบบติดตาม เพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ทะเบียนทรัพย์สินแบบอัตโนมัติเพื่อจัดเก็บข้อมูล จัดระบบข้อมูล จำแนกทรัพย์สิน และตรวจจับความผิดปกติ เมื่อพบความผิดปกติระบบจะแจ้งเตือนสถานะของทรัพย์สินผ่าน Dashboard รายงานภาพรวมทรัพย์สินและผลการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่เข้าใจง่าย เพื่อให้สามารถแก้ไขหรือซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ
2. แพลตฟอร์มจัดการภัยพิบัติ
แพลตฟอร์มจัดการภัยพิบัติ เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติสำหรับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า เป็นต้น ที่นำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีอุปกรณ์ IoT เซนเซอร์ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และโปรแกรมภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อติดตาม ควบคุม และรายงานสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ ก่อนจะส่งต่อไปที่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เพื่อจัดการและแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ พร้อมวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยง ผลกระทบจากภัยพิบัติ และคำนวณเส้นทางในการเข้าช่วยเหลือ เป็นต้น
3. แพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Health Platform)
แพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะ เป็นแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการและบริการด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ (Primary Care) ที่จะช่วยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพแบบรวมศูนย์ บูรณาการข้อมูลระดับจังหวัด ภายในและภายนอก รพ.สต. ได้ โดยหนึ่งในความสามารถของแพลตฟอร์มสุขภาพอัจฉริยะคือระบบรายงานสถานการณ์สาธารณสุขแบบเรียลไทม์ ที่จะจัดเก็บข้อมูลเรียลไทม์มารวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลกลาง แล้วใช้ปัญญาประดิษฐ์ จัดระบบและวิเคราะห์ข้อมูล ก่อนแสดงผลในแผนภาพอัจฉริยะรายงานผลแบบเรียลไทม์ เช่น รพ.สต.ในสังกัด สิทธิการรักษาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลสุขภาพ สถานการณ์สุขภาวะของประชาชน และข้อมูลการปฏิบัติงานของ รพ.สต. เป็นต้น
การลงทุนในเทคโนโลยีในกลุ่ม Real-Time GPS Tracking, Real-Time Data และ Real-Time Analytics เพื่อสร้าง Big Data Ecosystem เป็นกุญแจปลดล็อกความท้าทายทางธุรกิจในมิติต่าง ๆ สำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโต ชิงความได้เปรียบทางธุรกิจในยุคดิจิทัล และก้าวสู่โอกาสที่ดีกว่า หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เบดร็อค อนาไลติกส์ พร้อมให้คำแนะนำทุกการเริ่มต้น ติดต่อได้ที่อีเมล: [email protected] หรือ LINE หรือ Facebook