17 แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนจากองค์การสหประชาชาติ

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ข้อความสั้นๆ ที่หมายถึง “เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” เป็นเมืองที่มีการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน มีความปลอดภัย การคมนาคม มีระบบสาธารณสุขที่ดี รวมทั้งยังมีสิ่งแวดล้อม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และวัฒนธรรมที่ดีงามด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แต่ละท้องถิ่นสามารถสร้างขึ้นมาได้ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ไว้ 17 ข้อด้วยกัน
เป้าหมายที่ 1 : No Poverty
การลดความยากจนทุกมิติให้แก่คนทุกกลุ่ม ทั้งชาย หญิง เด็ก คนยากจน และกลุ่มคนเปราะบางให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน เนื่องจากความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงต้องวางแผนอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากร บริการขั้นพื้นฐาน และเตรียมพร้อมวางแผนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น การจัดหาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเบี้ยผู้สูงอายุและคนทุพพลภาพ ให้สามารถวางแผนหรือแจกจ่ายได้อย่างเท่าเทียม ช่วยเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนได้
เป้าหมายที่ 2 : Zero Hunger
การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เข้าถึงอาหารปลอดภัย ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เนื่องจากการพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยจะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้นการผลักดันและสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นทำการเกษตรปลอดภัย จะช่วยสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร สร้างความสมดุลของระบบนิเวศได้ โดยองค์กรปครองส่วนท้องถิ่นอาจสนับสนุนเกษตรกรด้วยการติดตั้งระบบคาดการณ์ภัยพิบัติ เพื่อวางแผน แจ้งเตือน และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการทำเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เป้าหมายที่ 3 : Good Health and Well-being
การมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย เนื่องจากกำลังคนคือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้นการส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี ย่อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีศักยภาพ ท้องถิ่นจึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการดูแลด้านสาธารณสุขและสุขภาวะให้กับประชาชน เช่น การทำระบบจองคิวพบแพทย์ การนำเทคโนโลยีมาช่วยมอนิเตอร์ ติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วยในชุมชน
เป้าหมายที่ 4 : Quality Education
การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพครอบคลุมและเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงจะช่วยยกระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปิดช่องว่างทางสังคม สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติได้ ดังนั้นท้องถิ่นสามารถช่วยสร้างรากฐานทางการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถ้วนหน้า ไม่เพียงสนับสนุนในเรียนในระบบการศึกษาพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยพัฒนาทักษะทางอาชีพต่าง ๆ ที่เหมาะสมและเท่าเทียมได้ด้วย
เป้าหมายที่ 5 : Gender Equality
การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง เนื่องจากการเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจ พร้อมแนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงเริ่มได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 6 : Clean Water and Sanitation
การจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประชาชนจึงควรเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ท้องถิ่นจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและยั่งยืน เช่น การติดตั้งระบบสำรวจสถานะของโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน รวมถึงทำระบบร้องเรียนปัญหาแบบออนไลน์ เพื่อตรวจสอบพิกัดที่มีปัญหา นำไปสู่แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างรวดเร็ว
เป้าหมายที่ 7 : Affordable and Clean Energy
การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา เนื่องจากพลังงานหลักที่ใช้กันอยู่เป็นพลังงานแบบใช้แล้วหมดไป ประกอบกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่เพียงเสี่ยงจะหมดลง แต่ยังเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันด้วย ดังนั้นการสนับสนุนและผลักดันให้เข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน จึงเป็นทางออกสำคัญ โดยท้องถิ่นอาจนำเทคโนโลยีมาใช้ในชุมชน เช่น การออกแบบระบบไฟฟ้าของอาคารให้เปิดปิดอัตโนมัติ หรือระบบไฟส่องสว่างตามถนนให้เป็นโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 8 : Decent Work and Economic Growth
การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน เนื่องจากแรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น แน่นอนย่อมส่งผลให้ไม่เกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้นการสร้างงาน ยกระดับแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตในท้องถิ่น จึงช่วยโน้มน้าวให้คนในท้องถิ่นอยากทำงานที่บ้านเกิด ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้และเศรษฐกิจดีขึ้นตามไปด้วย
เป้าหมายที่ 9 : Industry, Innovation, and Infrastructure
การจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและองค์ความรู้ได้สะดวก ดังนั้นท้องถิ่นไม่ควรมองข้ามการวางแผนและการบริหารโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน อย่างการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน ทางเท้า และไฟส่องสว่างให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยอาจติดตั้งระบบบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานอย่าง CDDP ในการตรวจสอบสถานะ วางแผนซ่อมบำรุง รวมถึงการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เมื่อพบจุดบกพร่อง
เป้าหมายที่ 10 : Reduced Inequalities
การลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ท้องถิ่นอาจเริ่มวางแผนหรือออกแบบโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนยากจนและกลุ่มคนด้อยโอกาส เช่น การรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจำแนก จัดสรร และจัดระบบการรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบื้ยผู้พิการ เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 11 : Sustainable Cities and Communities
การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน บางครั้งระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมเติบโตไม่ทันการขยายตัวของเมืองและประชากรที่ไหลมาสู่แหล่งจ้างงาน จึงส่งผลให้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานได้อย่างพอเพียงและปลอดภัย ดังนั้นท้องถิ่นหรือเมืองใหญ่จึงควรนำ Big Data มาจัดทำระบบข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ วางแผน และคาดการณ์อนาคตของเมืองให้สามารถพัฒนาเมืองได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม อันนำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนได้
เป้าหมายที่ 12 : Responsible Consumption and Production
การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน, ลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste), ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง รวมถึงลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle ซึ่งท้องถิ่นสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนแยกขยะ ลดการใช้พลาสติก รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการของเสีย ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถนำระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขนเก็บขยะมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชำระและตรวจสอบผลได้ง่าย เกิดความเป็นธรรม โน้มน้าวให้ประชาชนร่วมใจในการชำระ และใส่ใจในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
เป้าหมายที่ 13 : Climate Action
การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์เรา ถึงเวลาที่ต้องรวมพลังกันต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน โดยท้องถิ่นอาจเริ่มจากสร้างความรู้เข้าใจให้กับประชาชนผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ การทำโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งยังเพิ่มความเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำนายภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ พิกัดที่จะเกิด และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อแจ้งเตือน วางแผนรับมือ รวมถึงเตรียมการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่ 14 : Life Below Water
การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมหาสมุทรและทะเลมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรฝน น้ำดื่ม ภูมิอากาศ ชายฝั่ง รวมถึงแหล่งอาหารและกิจกรรม ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหามลพิษทางทะเล รวมถึงการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้มีความสมบูรณ์
เป้าหมายที่ 15 : Life on Land
การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน ทั้งป่าไม้ ดิน ทะเลทราย เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม จนทำให้ดิน น้ำ และอากาศเป็นมลพิษ ประกอบกับการรุกล้ำพื้นที่ป่า ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่มีที่อยู่อาศัย ใกล้จะสูญพันธ์ เพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ จึงต้องร่วมกันตระหนักในการรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ให้ได้
เป้าหมายที่ 16 : Peace, Justice, and Strong Institutions
การส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบในทุกระดับ เนื่องจากในปัจจุบันมีการฆาตกรรม การใช้อาวุธผิดกฎหมาย มีความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ท้องถิ่นสามารถเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่ได้ง่าย ๆ เพื่อเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ เช่น การติดตั้งไฟส่องสว่าง การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการมอนิเตอร์และแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
เป้าหมายที่ 17 : Partnerships for the Goals
การเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนากำลังพัฒนาด้วยกัน และกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
17 หลักการในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะเกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนได้จริงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนด้วย เพราะเมื่อทำสำเร็จแล้ว องค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะต่าง ๆ ก็จะตามด้วย ที่สำคัญคุณภาพชีวิตและความสุขสงบในการอยู่ร่วมกันก็จะเกิดขึ้นด้วยนั่นเอง
ขอบคุณที่มา: sdgs.nesdc.go.th/เกี่ยวกับ-sdgs/