เทศบาลนครยะลา ร่วมกับ Bedrock และสมาคมสันนิบาต เปิดตัวแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
เทศบาลนครยะลา ร่วมกับ Bedrock และสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เปิดตัวแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมืองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มุ่งเป้ายกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เทศบาลนครยะลา นำโดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พร้อมตัวแทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยว่าที่ร้อยตรี พงศธร รัตนประพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด และนายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด (Bedrock) บริษัทในเครือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ภายใต้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวการดำเนินกิจกรรมของเทศบาลนครยะลา พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดฯ ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park อาคารใหม่)
สำหรับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยี ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ มาเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระดับเมืองในโลกยุคใหม่ให้แก่เทศบาลนครยะลา ช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับการบริการภาครัฐให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย
1. แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (CDDP) ระบบรวบรวม จัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางแผน การพัฒนาให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของชุมชม สังคม และประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
2. ระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ช่วยวางแผนรับมือภัยพิบัติได้ทันท่วงที ให้ความช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
3. ระบบรับแจ้งเหตุและจัดการปัญหาออนไลน์ ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ช่วยสอดส่องดูแลเมืองเพื่อให้เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
4. ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ระบบยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างแบบครบวงจร ติดตามและรอผลอนุมัติผ่านระบบออนไลน์
5. ระบบภาษีอัจฉริยะ ยกระดับการบริการประชาชนในการจัดเก็บภาษีให้รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านเมืองอัจฉริยะ ของ อปท. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ” ประกอบไปด้วยการบรรยายความคืบหน้าต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครยะลา ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” รวมทั้งยังมีกิจกรรมเสวนา ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่” และ “การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสำหรับท้องถิ่นไทยด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ซักถาม หรือเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในปี 2566 เทศบาลนครยะลา ได้รับรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566” ประเภทยอดเยี่ยม จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยในอนาคตเทศบาลนครยะลา ตั้งเป้าหมายจะก้าวสู่ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแล ควบคุม สั่งการ และบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ภายในพื้นที่ต่อไป