4 แพลตฟอร์มเทคโนโลยี วางรากฐานท้องถิ่นสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต สินค้า และบริการต่าง ๆ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก The e-Conomy SEA 2022 report by Google, Temasek, and Bain & Company รายงานว่า เมื่อเทียบกับปี 2564 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะเติบโตถึง 17% ต่อปี
ฉะนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญในการนำรายได้เข้ามาสู่ท้องถิ่น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้ จะต้องเริ่มจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นให้เอื้อต่อการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลให้คนในท้องถิ่นคุ้นชินและเปิดรับกับเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ถนนดี ไฟส่องสว่าง บ้านเมืองสะอาดน่าอยู่ มีความปลอดภัยสูง สุขภาพกายและใจคนในชุมชนดี ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่น่าสนใจในการบริหารจัดการเมือง เพื่อวางรากฐานระบบเศรษฐกิจดิจิทัลก็คือ
1. แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หรือ City Digital Data Platform: CDDP
ข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นการเก็บรวบรวมและจัดระบบข้อมูลในท้องถิ่นหรือข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาก และใช้เวลานาน อีกทั้งข้อมูลยังไม่อัปเดต จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนพัฒนาเมืองหรือแก้ปัญหาในหลายเรื่องได้ทันที การนำ City Digital Data Platform ที่เป็นระบบข้อมูลรวมศูนย์ที่รวบรวม จัดเก็บ จัดการ วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและบริการของเมืองในด้านสวัสดิการสังคม, ด้านสุขภาพและสาธารณสุข, ด้านการบริหารจัดการเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ จึงช่วยสนับสนุนการทำงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดี
ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเข้าถึงข้อมูลเมืองที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถบริหารจัดการและดูแลประชาชนได้อย่างตรงจุด ครอบคลุม และถูกต้อง อีกทั้งยังนำข้อมูลเมืองไปต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นได้
2. ระบบภาษีอัจฉริยะ หรือ Smart Municipal Tax Platform
ภาษีท้องถิ่น อีกหนึ่งเรื่องชวนปวดหัวและหนักใจเวลาที่ต้องจัดเก็บ ทั้งเรื่องการลงพื้นที่สำรวจ การคำนวณ กฎหมาย และกระบวนการดำเนินการ ซึ่งหากจัดก็บไม่ถูกต้องและครบถ้วน ก็จะส่งผลต่อรายได้ที่จะนำมาพัฒนาท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของประชาชน อันนำไปสู่การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ดังนั้นการนำระบบ Smart Municipal Tax ระบบที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดเก็บภาษีอัจฉริยะแบบครบกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องของการสำรวจ การคำนวณ ไปจนถึงการจัดเก็บ โดยใช้ภาพถ่ายโดรน หรือ Mobile Mapping System ในการสำรวจ และมี AI ในการประมวลผลเพื่อหาตำแหน่ง วัดขนาด แยกประเภทของป้าย และจำแนกประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงช่วยวิเคราะห์ แนะนำ คำนวณภาษี และรองรับการชำระภาษีแบบออนไลน์
จึงทำให้ประชาชนสะดวกในการยื่นเรื่อง การจ่าย และการติดตาม พร้อมสร้างความมั่นใจในการคำนวณภาษี ขณะเดียวกันท้องถิ่นก็สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ลดภาระในการสำรวจและอัปเดตข้อมูล
3. ระบบขออนุญาตก่อสร้างและควบคุมอาคารอัจฉริยะ หรือ Smart Building Permit Platform
เมืองยิ่งพัฒนา อาคารบ้านเรือน หรือร้านค้าก็ยิ่งเกิดมากขึ้น แน่นอนว่าการสนับสนุนหรือพัฒนาให้ท้องถิ่นเกิดเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ต้องอำนวยความสะดวกให้สามารถขออนุญาตก่อสร้างและควบคุมอาคารได้ง่ายขึ้น ตรวจสอบผลสะดวกขึ้นด้วย การนำกลุ่มระบบ Smart Building Permit มาใช้จะช่วยบริหารจัดการการขออนุญาตและควบคุมอาคารได้แบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็น การขออนุญาตทางออนไลน์, การใช้ AI ในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร, อนุมัติผ่านระบบได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น
จึงทำให้ประชาชนยื่นขออนุญาตได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ติดตามสถานะง่าย ลดเวลาในการรอผลอนุมัติ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ลดเวลาและขั้นตอนในการลงสำรวจของเจ้าหน้าที่ การตรวจสอบ และการพิจารณาผ่านระบบ
4. ระบบบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ Smart Asset Management Platform
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง หรือเกิดการชำรุด ย่อมทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหยุดชะงักตามไปด้วย ไม่เพียงประชาชนในพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อน แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็อาจจะต้องใช้เวลาในการดูแลและแก้ไขปัญหา การนำระบบ Smart Asset Management มาช่วยในการจัดการและวางแผนรอบการบำรุงรักษาของสินทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟส่องสว่าง ทางเท้า เป็นต้น โดยใช้ AI ในการตรวจจับและจำแนกทรัพย์สิน มีระบบการรับและแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน
ทำให้ประชาชนแจ้งสะดวก มีความปลอดภัย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณ วงรอบการซ่อมบำรุง และกำลังคน
การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างครบทุกมิติ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล พื้นที่ดิจิทัล นำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูล https://economysea.withgoogle.com/intl/ALL_th