ทำความเข้าใจเทศบาล รู้ให้ลึกก่อนใช้สิทธิ์เลือกตั้งเทศบาล

ใครหลายคนอาจคิดว่าการ “เลือกตั้งเทศบาล” เป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งการดูแลถนนหนทาง การจัดการขยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลความปลอดภัย รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต ดังนั้น 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 นี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้กำหนดอนาคตของเมือง ผ่านการเลือกตัวแทนเข้าไปพัฒนาเมือง แต่ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง มาทำความรู้จักกับเทศบาลกันว่าคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร และทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญ
เทศบาลคืออะไร
เทศบาล เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดตามระบอบประชาธิปไตย พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แบ่งเทศบาลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยพิจารณาจากจำนวนประชากรและรายได้ของพื้นที่
- เทศบาลตำบล: ในมาตรา 9 กำหนดว่า “เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย” กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เทศบาลตำบลเป็นเทศบาลขนาดเล็กสุดตามประกาศยกฐานะของกระทรวงมหาดไทย
- เทศบาลเมือง: ในมาตรา 10 กำหนดว่า “เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย” กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เป็นเทศบาลขนาดกลาง มีประชากรหนาแน่นขึ้น และมีรายได้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาล
- เทศบาลนคร: ในมาตรา 11 กำหนดว่า “เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย” กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เป็นเทศบาลขนาดใหญ่สุด มีประชากรหนาแน่นขึ้น และมีรายได้สูง
ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการและจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ความสะอาดเรียบร้อย ความปลอดภัย และให้บริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนตามศักยภาพและงบประมาณจากรายได้ที่จัดเก็บเอง รวมถึงรายรับจากงบประมาณส่วนกลางและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ครอบคลุมส่วนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน ทางเท้า ระบบขนส่ง
- การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น จัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย
- การรักษาความสะอาด ความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- การพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น จัดการอบรมอาชีพ ปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด การจัดการที่อยู่อาศัย การสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
นอกจากนี้ เทศบาลยังมีหน้าที่สำคัญในการ "จัดเก็บภาษี" ซึ่งเป็นรายได้ที่จัดเก็บเองในพื้นที่รับผิดชอบของตน เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองและดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ
โครงสร้างการบริหารของเทศบาล
โครงสร้างการบริหารงานของเทศบาลประกอบด้วย “นายกเทศมนตรี” และ “สมาชิกสภาเทศบาล” ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับจากวันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 1 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
- นายกเทศมนตรี: จำนวน 1 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ดูแลและจัดการงานของเทศบาลตามที่กฎหมายกำหนด เสนอแผนการใช้งบประมาณและแผนการลงทุนต่อสภาเทศบาล
- สภาเทศบาล: ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายและเทศบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของนายกเทศมนตรี รวมถึงการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น สำหรับจำนวนของสมาชิกสภาเทศบาลนั้น จะแบ่งตามประเภทของเทศบาล ดังนี้:
- เทศบาลนคร: มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนครได้เขตละ 6 คน รวม 24 คน
- เทศบาลเมือง: มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองได้เขตละ 6 คน รวม 18 คน
- เทศบาลตำบล: มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้เขตละ 6 คน รวม 12 คน
วันเลือกตั้งเทศบาลปี พ.ศ. 2568
ตามโครงสร้างการบริหารงานของเทศบาลนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับจากวันเลือกตั้ง ทำให้นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่มีการจัดการเลือกตั้งเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศในคราวที่แล้วหมดวาระพร้อมกันในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเทศบาลขึ้นใหม่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ ตามกฎหมายเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2562 ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2 ปี 2566 เป็น “วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568"
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระหว่างช่วงสี่ปีที่ผ่านมา อาจมีนายกเทศมนตรีหรือสมาชิกสภาเทศบาลลาออกหรือมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ จึงได้มีการเลือกตั้งใหม่ไปก่อนแล้ว
ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเทศบาล อย่าลืมไปลงคะแนนเสียงเลือกนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านของตนเอง เพื่อเลือกบุคคลที่จะเป็นตัวแทนของเรามาพัฒนาท้องถิ่นให้ตรงใจกันนะครับ
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.ilaw.or.th/articles/4579