กลยุทธ์จาก 5 เมืองใหญ่ รับมือเกาะความร้อนเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ สู่อนาคตเมืองที่เย็นและยั่งยืน

เมืองทั่วโลกกำลังเผชิญปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island Effect) ทำให้พื้นที่เมืองมีอุณหภูมิและมลพิษสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ปัญหานี้ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพประชาชน งบประมาณด้านสุขภาพและสาธารณสุข ต้นทุนด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเสื่อมสภาพของโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเมือง
ดังนั้น ทางแก้ที่ตรงจุดคือก็การลดความร้อนในพื้นที่เมือง เบดร็อค อนาไลติกส์ จึงได้รวบรวมแนวทางการจัดการความร้อนจาก 5 เมืองใหญ่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นได้นำไปปรับใช้และลดผลกระทบจากความร้อนมาแนะนำ
1. ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ดูไบ (Dubai) เมืองแห่งทะเลทรายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้อาคารและพื้นที่สาธารณะในเมืองต้องพึ่งพาเครื่องทำความเย็นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ดูไบจึงนำ District Cooling มาเป็นส่วนหนึ่งในการลดความร้อนและประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเป็นระบบทำความเย็นจากส่วนกลางที่ส่งความเย็นผ่านเครือข่ายท่อไปยังอาคารต่าง ๆ โดยที่แต่ละอาคารไม่ต้องมีเครื่องทำความเย็นของตนเอง จึงช่วยลดความร้อนให้เมือง ไปพร้อมกับการลดการใช้พลังงานให้กับเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและอาคารสูงจำนวนมาก โดยพบว่าสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าระบบทำความเย็นแบบทั่วไปได้มากถึง 5-10 เท่า อีกทั้งยังสามารถผลิตความเย็นได้จากกิจกรรมของมนุษย์และแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยไม่ต้องต้มน้ำ รวมถึงยังสามารถกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้ตอนกลางวันไปใช้กลางคืนด้วย
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ระบบ District Cooling ในดูไบได้รับความสนใจ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 บริษัททำความเย็นที่ใหญ่สุดของโลก Empower ได้สร้างโรงงานทำความเย็นควบคุมจากระยะไกลแห่งแรกของโลกในพื้นที่นำร่องหมู่บ้านจูไมราห์ (Jumeirah Village Circle) โรงงานนี้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบการไหลของน้ำ และใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บพลังงานความร้อน เพื่อลดภาระของเครือข่ายในช่วงความต้องการพลังงานสูง หลังจากที่ระบบ District Cooling ในโรงงานนี้ประสบความสำเร็จในการลดความร้อนและประหยัดพลังงาน ระบบนี้จึงถูกนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเมือง
2. สิงคโปร์
สิงคโปร์ (Singapore) หนึ่งในประเทศที่เจอกับปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง และอากาศร้อนตลอดทั้งปี รัฐบาลจึงออกหลากหลายมาตรการลดอุณหภูมิให้เมือง ไม่ว่าจะเป็น อาคารทรงกลีบดอกบัวที่ระบายอากาศได้ดี, การวางผังเมืองสีเขียวและพื้นที่สีเขียวแนวตั้ง (Vertical Gardens), การเพิ่มสวนสาธารณะทั่วเมือง, การติดตั้งท่อน้ำใต้ดินระบายความร้อน, สนับสนุนขนส่งสาธารณะและทางเดินที่ร่มรื่นเพื่อลดความร้อนจากการจราจร, การสร้างแบบจำลองข้อมูลคาดการณ์ผลจากการวางผังเมือง และแนวทางใหม่กับการใช้สีสะท้อนความร้อนทาอาคารและทางเท้า
สำหรับแนวทางทาสีอาคารและทางเท้าด้วยสีสะท้อนความร้อน (Cool Paint Coatings) สิงคโปร์ได้เริ่มทดลองใช้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2567 ในย่านบูกิตบาต็อกและซินหมิง ผลลัพธ์พบว่าอาคารและทางเท้าที่ทาสีชนิดนี้ ลดการปล่อยความร้อนได้ถึง 30% ช่วยให้อุณหภูมิโดยรวมเย็นลงได้สูงสุดถึง 2 องศาเซลเซียสในช่วงร้อนสุดของวัน ทำให้คนเดินถนนรู้สึกเย็นขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองด้วย
3. ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) สหรัฐอเมริกา ก็เผชิญกับปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง และมีช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวที่สุดในกรกฎาคมและสิงหาคมของทุกปี จึงมีการนำสีสะท้อนความร้อนที่เรียกว่า Cool Pavements มาใช้ลดอุณหภูมิพื้นผิวถนน
โดยในปี พ.ศ. 2565 ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันใช้สีสะท้อนความร้อนที่มีคุณสมบัติในการลดการดูดซับความร้อนได้ดีมาทาบริเวณถนน ทางเท้า โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะในย่านพาคอยมา (Pacoima) ประมาณ 700,000 ตารางฟุต ครอบคลุม 10 ช่วงตึก ทำให้ช่วยลดอุณหภูมิอากาศโดยรอบในวันที่แดดจัดได้ 1.5 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่แดดปกติลดได้ 3.5 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้คนสามารถเดินเท้าได้สบายขึ้น นอกจากนี้ สีชนิดนี้ยังช่วยซึมน้ำ ลดน้ำท่วม ลดอันตรายจากถนนลื่น กรองมลพิษ และเพิ่มทัศนวิสัยตอนกลางคืนด้วย
แม้มาตรการนี้จะได้ผลดีและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในเมือง แต่การทาสีสะท้อนความร้อนอย่างเดียวไม่สามารถตอบทุกปัจจัยที่ทำให้เมืองเกิดความร้อนได้ จึงต้องควบคู่ไปกับการใช้มาตรการอื่น เช่น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
4. โตเกียว ญี่ปุ่น
โตเกียว (Tokyo) ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกเมืองที่มีความท้าทายในเรื่องปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง โดยได้ดำเนินการลดอุณหภูมิในเมืองอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ไม่ว่าจะเป็น
- การลดความร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ลดการปล่อยความร้อนจากอาคารและยานพาหนะ
- ใช้เงินอุดหนุนและมาตรการทางภาษี รวมถึงออกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายบังคับให้อาคารใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตร.ม. ต้องมีพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าอย่างน้อย 20% เช่น สวนดาดฟ้า Roppongi Hills
- การปรับปรุงพื้นผิวถนนด้วยวัสดุที่ช่วยลดการดูดซับความร้อนจากยางมะตอย พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการฉีดพ่นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดบนพื้นถนน
- การสร้างทางลม เนื่องจากโตเกียวมีอาคารสูงหนาแน่น จึงมีแผนสร้างอาคารให้มีระยะห่างมากขึ้น เพื่อให้ลมจากทะเลพัดเข้าเมืองได้สะดวก
- การส่งเสริมเทศกาลอุจิมิซึ (Uchimizu) ซึ่งเป็นกิจกรรมสาดน้ำลงพื้น โดยสนับสนุนให้นำน้ำเหลือใช้มาราดถนน เพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว
5. เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
เมลเบิร์น (Melbourne) ออสเตรเลียกำลังประสบกับความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเติบโตของประชากร และภาวะโลกร้อนในเมือง หนึ่งในมาตรการสำคัญในการต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้ก็คือ “Urban Forest Strategy”
สำหรับ Urban Forest Strategy เป็นการปรับปรุงเมืองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและบรรเทาผลกระทบจากความร้อนในเมือง ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกป่าตามที่กำหนด ทั้งพันธุ์ไม้ สถานที่ และเวลาที่ปลูก ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ปกคลุมเรือนยอด (Canopy) จาก 22% เป็น 40% ภายในปี พ.ศ. 2583 หากต้องการดูความภาพรวมและแผนที่ป่าในรูปแบบ Open Data ของเมืองเมลเบิร์น สามารถดูได้ที่ http://melbourneurbanforestvisual.com.au
การต่อสู้กับปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island Effect) หรือการลดความร้อนให้เมือง คงไม่สามารถนำแนวทางมาใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ต้องใช้มาตรการที่หลากหลายและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเมืองด้วย จึงจะทำให้สามารถลดผลกระทบจากความร้อน และสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองในอนาคตต่อไป
ขอบคุณที่มา:
https://www.tomorrow.city/dubais-innovative-district-cooling-how-block-airconditioning-works/
https://www.melbourne.vic.gov.au/urban-forest-strategy
https://thestandard.co/cool-paint-coatings-help-city-dwellers-feel-up/