รู้จักที่มา บทบาท และหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ. มากขึ้น ก่อนไปเลือกตั้งครั้งสำคัญ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ประเทศไทยจะมีการไปเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ก่อนจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มาทำความรู้จักกับบทบาทและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สำรวจความแตกต่างจากหน่วยงานอื่น อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. เทศบาล และอบต.
องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. คืออะไร
“อบจ.” ย่อมาจากคำว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัด" เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีจังหวัดละหนึ่งแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและพัทยาที่เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด
โครงสร้างการบริหารของ อบจ.
โครงสร้างการบริหารของ อบจ. จะประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
1. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ หากดำรงตำแหน่งติดต่อกันครบ 2 วาระ จะต้องเว้นช่วง 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง จึงจะดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีให้ถือว่าเป็น 1 วาระ
2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พิจารณาข้อบัญญัติของ อบจ. และผ่านงบประมาณต่าง ๆ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง โดยจำนวนของ ส.อบจ. ในแต่ละจังหวัดจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้น ๆ ดังนี้
- ไม่เกิน 500,000 คน มีจำนวน ส.อบจ. 24 คน
- เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 30 คน
- เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 36 คน
- เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน มีจำนวน ส.อบจ. 42 คน
- เกิน 2 ล้านคนขึ้นไป มีจำนวน ส.อบจ. 48 คน
อบจ. มีอำนาจและหน้าที่อย่างไร
อบจ. มีหน้าที่สำคัญมากในการมอบคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในจังหวัด ทั้งการพัฒนาท้องถิ่น การบริหารจัดการในระดับจังหวัด การบริการสาธารณประโยชน์ การพัฒนาและแก้ไขทุกปัญหาในเขตจังหวัด การช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน โดยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ไว้ดังนี้
1. จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
2. กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
3. บำบัดน้ำเสีย
4. บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. วางผังเมือง
6. จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นทางหลวงขนาดตามกฎหมาย ว่าด้วยทางหลวง
7. จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ
8. จัดให้มีท่าเทียบเรือ ท่าข้าม ที่จอดรถ และตลาด
9. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
10. รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
11. จัดการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา และบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
12. จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะและ สวนสัตว์ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมสำหรับราษฎร
13. จัดให้มีการสังคมสงเคราะห์และการสาธารณูปการ
14. ป้องกันและบำบัดรักษาโรค
15. จัดตั้งและการบำรุงสถานพยาบาล
16. ส่งเสริมการท่องเที่ยว
17. ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ
18. กิจการที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีอีกหน้าที่สำคัญก็คือ การจัดเก็บภาษีภายในเขตพื้นที่จังหวัดของตัวเอง หรือที่เรียกว่า “รายได้ที่จัดเก็บเอง” ทั้งภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงภาษีบางชนิดที่รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บเองและจัดสรรให้ อบจ. เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีรถยนต์และล้อเลื่อน ซึ่งภาษีที่จัดเก็บเหล่านี้จะนำมาเป็นรายได้ในการบริหารจัดการ ปรับปรุง หรือพัฒนาพื้นที่ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนภายในจังหวัดได้อย่างรวดเร็วทันที
จากอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ที่บอกเล่ามาสามารถสรุปภาพรวมสั้น ๆ ได้ว่า อบจ. มีหน้าที่ในการบริหารจัดการภายในจังหวัดได้ด้วยตัวเองและมีรายได้ที่จัดเก็บเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำบริการสาธารณะ การรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการหรือสนับสนุนการศึกษาภายในจังหวัด การส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดการขยะและติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ได้มาอย่างไร
ด้วยความที่ อบจ. มีหน้าที่สำคัญมากในการบริหารจัดการภายในจังหวัด จึงกำหนดว่า อบจ. จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ผ่านการเลือกนายกอบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ในเขตของตน โดยกำหนดเขตเลือกตั้ง ดังนี้
- นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.): ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
- สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.): ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในอำเภอนั้น และมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 1 คน
ผู้ว่าราชการจังหวัด, อบจ., เทศบาล และ อบต. ต่างกันอย่างไร
ความสับสนหนึ่งของประชาชนก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด, อบจ., เทศบาล และ อบต. มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แท้จริงแล้วทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด, อบจ., เทศบาล และ อบต. มีความต่างกันในหลายส่วนทั้งประเภทของส่วนราชการ ที่มา รวมถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบ
1. ด้านประเภทของส่วนราชการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นราชการส่วนภูมิภาค มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนกลาง ขณะที่ อบจ. อบต. และเทศบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และไม่สังกัดจังหวัด
2. ด้านที่มา
ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย (ยกเว้นเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษอย่างกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาที่มาจากการเลือกตั้ง) โดยวาระการดำรงตำแหน่งจะเป็นไปตามการโยกย้ายจากส่วนกลางหรือเกษียณอายุทางราชการ ขณะที่ อบจ. อบต. และเทศบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่งจะอยู่ที่ 4 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ
3. เขตพื้นที่ความรับผิดชอบและหน้าที่
ผู้ว่าราชการจังหวัดมีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตามนโยบายหรือแนวทางจากรัฐบาลหรือส่วนกลางที่มอบหมายให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชนในระดับจังหวัด ขณะที่ อบจ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการภายในจังหวัดได้ด้วยตัวเอง มีรายได้ที่จัดเก็บเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้โดยตรง อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง อบต. และเทศบาลด้วย
ในส่วน อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งตำบล โดยต้องมีจำนวนประชากรไม่เกิน 7,000 คน ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการภายในตำบลได้ด้วยตนเอง มีรายได้ที่จัดเก็บเองจากภาษี เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้โดยตรง สำหรับเทศบาล นั้น มีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบตามการประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล ซึ่งมี 3 ระดับคือ เทศบาลตำบลต้องมีประชากรมากกว่า 7,000 คน แต่ไม่เกิน 15,000 คน (มาตรา 15 แห่งร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ), เทศบาลเมืองต้องมีจำนวนประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป และเทศบาลนครต้องมีจำนวนประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป โดยมีหน้าที่ในการบริหารจัดการภายในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง มีรายได้ที่จัดเก็บเองจากภาษีประเภทต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้โดยตรง
ทำไมถึงต้องไปเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.
จากสาระความรู้เกี่ยวกับ อบจ. ที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า การไปเลือกตั้ง อบจ. ไม่เพียงช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยกำหนดทิศทางการบริหารจัดการภายในเขตพื้นที่ผ่านการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ ซึ่งจะเป็นผู้แทนของเราเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังช่วยตรวจสอบและควบคุมการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ดังนั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ อย่าลืมไปเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ กันนะครับ เพราะไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้าและไม่มีเลือกตั้งนอกเขต
ขอบคุณข้อมูล:
https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2971
https://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2019/3/2251_6046.pptx